UFABETWIN ผิดที่ตรงไหน? : ทำไม “ซน ฮึง มิน” ไม่ตกเป็นข่าวลือย้ายทีมเหมือนสตาร์ดังคนอื่นๆ
หากจะกล่าวถึงนักฟุตบอลชาวเอเชียที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซน ฮึง มิน ยอดดาวยิงชาวเกาหลีใต้คงเป็นคำตอบแรกของแฟนบอลทั่วโลกโดยไม่ต้องคิด
นักเตะหมายเลข 7 แห่ง ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ไม่เพียงเป็นแข้งเอเชียคนแรกที่คว้ารางวัลดาวซัลโวของพรีเมียร์ลีก แต่ยังเป็นนักเตะชาวเอเชียที่ยิงในรายการดังกล่าว รวมถึงยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก มากที่สุด จึงกล่าวได้ว่าเขาเป็นแข้งระดับโลกอย่างแท้จริง
แต่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ซน ฮึง มิน กลับไม่มีข่าวยึดโยงกับทีมใหญ่ระดับโลกเลย ไม่ว่าจะเป็น เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรือ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง ทีมระดับโลกเหล่านี้ไม่เคยต้องการคว้าตัวแข้งเกาหลีใต้ แม้แต่ข่าวลือสักนิดก็ไม่มี
จะพาไปหาเหตุผลว่า ทำไม ซน ฮึง มิน ไม่ตกเป็นข่าวลือย้ายทีมเหมือนสตาร์ดังคนอื่น? กับคำตอบที่อาจสะท้อนถึงปัญหาของการเป็นชาวเกาหลีใต้และชาวเอเชียในวงการฟุตบอลยุโรป
เก่งแค่ไหนก็ไม่มีใครสน
ย้อนกลับไปยังฤดูกาล 2018-19 ซน ฮึง มิน กลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่ร้อนแรงที่สุดของพรีเมียร์ลีก หลังเจ้าตัวคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ได้เป็นครั้งแรก รวมถึงรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งกรุงลอนดอน แถมยังก้าวไปถึงรอบชิงชนะเลิศของฟุตบอลยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก พร้อมกับคำชมถึงความสามารถของเขาที่ทำให้เขาโด่งดังไปทั่วยุโรปเป็นครั้งแรก
นี่คือวินาทีที่กองหน้าชาวเกาหลีใต้แสดงให้แฟนบอลทั่วโลกเห็นว่า เขาคือนักฟุตบอลระดับสูงของโลกลูกหนัง หลังจากเป็นที่พูดถึงอย่างยาวนานระดับที่รองลงไปกว่านั้น ซน ฮึง มิน ก็คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของเกาหลีใต้เป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 2013 และคว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งเอเชียตั้งแต่ปี 2014 และเมื่อถึงปี 2019 ซนได้คว้ารางวัลนักเตะยอดเยี่ยมแห่งเอเชียเป็นสมัยที่ 5 แล้วเรียบร้อย
ความสำเร็จส่วนตัวในฤดูกาล 2018-19 จึงเป็นเครื่องยืนยันการยกระดับของ ซน ฮึง มิน จาก “นักเตะที่ดีที่สุดในเอเชีย” สู่ “หนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดของโลก” เมื่อบวกกับทักษะที่ไม่ต้องใช้รางวัลใดยืนยัน ทั้งความสามารถในการเลี้ยงบอลด้วยความเร็วสูงและการจบสกอร์ได้อย่างเฉียบคมด้วยสองเท้า แค่นี้ก็มากพอที่จะยืนยันว่าเขาเป็นหนึ่งในนักเตะที่ดีที่สุดในโลก และสมควรจะได้ก้าวสู่จุดสูงสุดที่สูงกว่านี้
ในเวลานั้น ซน ฮึง มิน มีค่าตัวตามการประเมินในตลาดซื้อขายอยู่ที่ 80 ล้านยูโร ซึ่งเป็นตัวเลขที่ไม่ถูกหรือแพงเกินไปสำหรับความสามารถของเขา และแฟนบอลหลายคนต่างเริ่มมองเห็นแล้วว่า ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เล็กเกินไปสำหรับกองหน้าชาวเกาหลีใต้
แต่จนแล้วจนรอด แทบไม่เคยมีข้อเสนอจากทีมใหญ่ใดเข้ามาหานักเตะรายนี้ ทั้งที่ซนยังคงรักษาฟอร์มการเล่นอันสม่ำเสมอของตนเอาไว้ และค่าตัวของเขาก็ยังคงอยู่ในระดับเดิม ไม่เคยพุ่งสูงเพิ่มจนแตะหลัก 100 ล้านยูโร แม้กระทั่งในวันนี้ที่เขาคว้ารางวัลดาวซัลโวพรีเมียร์ลีก แต่เขาก็ยังมีค่าตัวตามการประเมิน 80 ล้านยูโรเท่าเดิม และข่าวการย้ายทีมของเขาเงียบสนิทไม่เปลี่ยนแปลง
ความจริงที่ ซน ฮึง มิน ถูกมองข้ามอย่างร้ายกาจยังคงเป็นคำถามที่หลายคนต้องการคำตอบ แต่การพิจารณาสถานการณ์ของซนในช่วง 2-3 ปีหลังจากที่เขาก้าวเป็นยอดนักเตะของโลก อาจทำให้เราไม่สามารถมองเห็นคำตอบที่แท้จริง เพราะสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่เคยมีทีมใหญ่ใดกล้าลงทุนกับนักเตะรายนี้อยู่กับ ซน ฮึง มิน ตั้งแต่ต้น
นั่นคือ “กฎหมายการเกณฑ์ทหารของเกาหลีใต้” กฎหมายที่เกือบทำให้ ซน ฮึง มิน หายจากวงการฟุตบอลยุโรปยาวนานถึง 2 ปี
กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารคือปัญหาใหญ่
เนื่องจาก เกาหลีใต้ ยังคงอยู่ภายใต้ภาวะสงคราม เนื่องจากสงครามเกาหลีที่ดำเนินมาอย่างยาวนานยังไม่ถูกประกาศสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ ชายเกาหลีใต้ทุกคนจึงต้องรับใช้ราชการในฐานะทหารเกณฑ์เป็นเวลาประมาณ 2 ปี (มากน้อยขึ้นกับการสังกัดแต่ละเหล่าทัพ) โดยกำหนดช่วงอายุตั้งแต่ 18-28 ปี ซึ่งแต่ละบุคคลมีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะเข้าเกณฑ์ทหารในช่วงอายุใดของตน
กฎหมายเกาหลีใต้เข้มงวดเป็นอย่างมากในเรื่องของการเกณฑ์ทหาร แม้แต่วงไอดอลชื่อดังอย่าง BTS ก็ไม่ได้รับการยกเว้น นอกเสียจากจะสร้างคุณงามความดีแก่ประเทศตามที่ระบุไว้ในกฎหมาย ซึ่งในกรณีของนักฟุตบอลยังมีโอกาสรอดผ่านการคว้าเหรียญรางวัลโอลิมปิก (เหรียญใดก็ได้) หรือ เหรียญทองเอเชียนเกมส์ ภายใต้เสื้อของทีมชาติเกาหลีใต้ จึงจะได้สิทธิ์ลดหย่อนให้เหลือเพียงการฝึกพื้นฐาน 4 สัปดาห์เท่านั้น
ซน ฮึง มิน ต้องติดอยู่กับคำสาปนี้ไปตลอดจนกว่าเขาจะคว้าเหรียญใดเหรียญหนึ่งมาครอง โดยเจ้าตัวมีเวลาเข้ากรมช้าที่สุดคือในปี 2020 ซึ่งตัวเขาจะมีอายุครบ 28 ปีพอดี และเมื่อเราย้อนกลับไปดูเส้นทางการค้าแข้งของ ซน ฮึง มิน จะพบว่าเส้นทางของเขาดำเนินไปตามแนวทางที่สโมสรฟุตบอลวางเอาไว้ เพื่อจะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หากซนต้องเดินทางกลับบ้านเกิดขึ้นมาจริงๆ
ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ เซ็นสัญญากับ ซน ฮึง มิน ในปี 2015 และเซ็นสัญญานักเตะชาวเกาหลีใต้ไว้ 5 ปี นั่นหมายความว่า หากซนไม่สามารถยกเว้นหน้าที่การเกณฑ์ทหารของตนได้ ทัพไก่เดือยทองจะปล่อยตัวนักเตะรายนี้ไปแบบฟรีๆในปี 2020 ซึ่งจะทำให้สโมสรไม่ต้องแบกภาระในวันที่เขาเดินทางไปรับใช้ชาติในกรมทหารแต่อย่างใด
ขนาดทีมที่เซ็นสัญญา ซน ฮึง มิน มาร่วมทีม ยังวางแผนเป็นอย่างดีที่จะไม่ต้องรับผลกระทบจากคำสาปที่ติดตัวแข้งเกาหลีใต้รายนี้ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่สโมสรอื่นจะทุ่มเงินหลัก 80-100 ล้านยูโร เพื่อ ซน ฮึง มิน ตราบใดก็ตามที่เขายังไม่สามารถปลดล็อกพันธะเรื่องการเกณฑ์ทหารได้
นี่คือความจริงที่แสดงให้เห็นว่า หลายสโมสรระดับโลกไม่ได้ไม่เชื่อใจฝีเท้าของ ซน ฮึง มิน แต่พวกเขาไม่เชื่อใจ “ระยะเวลาการใช้งาน” ของนักเตะรายนี้ เพราะการทุ่มเงินมหาศาลราว 100 ล้านยูโรเพื่อนักเตะที่จะไม่ได้เล่นให้กับทีมนานสองฤดูกาล แค่มองการคำนวณบนหน้ากระดาษก็เห็นชัดแล้วว่านี่เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มเสีย
แม้ความจริง ซน ฮึง มิน จะสามารถพิชิตเหรียญทองเอเชียนเกมส์ 2018 และสามารถได้รับสิทธิยกเว้นการเข้ากรมทหารยาว 2 ปีได้สำเร็จ แต่สำหรับทีมใหญ่ทั้งหลายที่จ้องมองนักเตะรายนี้ นี่คือระยะเวลาที่สายเกินไปกว่าที่พวกเขาจะคว้าตัวกองหน้าชาวเกาหลีใต้มาได้แล้ว
เพราะ แดเนียล เลวี่ ผู้บริหารทีมสุดเขี้ยวของ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ จรดปากการต่อสัญญา ซน ฮึง มิน ออกไปอีก 5 ปีในเดือนกรกฎาคมปี 2018 นั่นหมายความว่าทันทีที่สโมสรฟุตบอลทั่วโลกทราบข่าวว่า ซน ฮึง มิน ไม่ต้องเข้ากรมทหารอีกต่อไป เขาเพิ่งจะต่อสัญญากับทัพไก่เดือยทองไปเมื่อเดือนก่อน และเหลือเวลาถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อยที่จะรับใช้สโมสรแห่งนี้ ซึ่งกว่าจะใกล้หมดสัญญา ซน ฮึง มิน ก็มีอายุ 30 ปีเข้าไปแล้ว
นี่คือเกมธุรกิจที่ชาญฉลาดของ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ จากเดิมที่พวกเขาเคยร่างสัญญาเพื่อหลบช่วงปีที่ซนต้องเกณฑ์ทหาร กลับกลายเป็นการต่อสัญญาแบบพร้อมเสี่ยงกับนักเตะรายนี้ในปี 2018 เพราะไม่ว่าผลลัพธ์ของการแข่งขันเอเชียนเกมส์จะออกแบบใด สเปอร์สก็คุ้มค่ากับการต่อสัญญายาวนักเตะรายนี้ออกไป
เพราะต้องไม่ลืมว่าพวกเขาลงทุนกับซนด้วยเงิน 30 ล้านยูโร หากจะเสียนักเตะรายนี้สักสองปีในอนาคตมันก็ไม่ส่งผลกระทบเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่เขามอบให้กับทีมก่อนหน้านี้
แต่ในเมื่อ ซน ฮึง มิน รอดพ้นจากการเกณฑ์ทหารมาได้ นี่เหมือนแจ็คพอตที่ ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ รอคอย เพราะเขาจะสามารถใช้งานแข้งรายนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยภายใต้สัญญาถึงปี 2023 เมื่อบวกกับความเขี้ยวลากดินในการเจรจาซื้อขายของ แดเนี่ยล เลวี่ สโมสรใหญ่แห่งอื่นจึงทำอะไรไม่ได้นอกจากมองตาปริบๆ
นี่คือข้อจำกัดที่ ซน ฮึง มิน ต้องเผชิญในฐานะชาวเกาหลีใต้ที่ต้องมีหน้าที่รับใช้ชาติติดตัว ซึ่งส่งผลต่อเส้นทางการค้าแข้งของเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และนำมาสู่เหตุผลของความไม่ลงล็อกหลายอย่าง จนทำให้ไม่มีทีมใหญ่ทีมไหนต้องการคว้าตัว ซน ฮึง มิน แม้เขาจะหมดภาระต้องกลับไปรับใช้ชาติที่บ้านเกิด หลังเข้ารับการฝึก 4 สัปดาห์ไปแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2020 ช่วงที่พรีเมียร์ลีกพักซีซั่นจาก โควิด-19 ก็ตาม
นักเตะเอเชียเป็นได้เพียงเครื่องมือทางการค้า
ซน ฮึง มิน ไม่เพียงถูกมองข้ามโดยหลายสโมสรใหญ่ในฐานะชาวเกาหลีใต้เพียงเพราะเรื่องกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความจริงที่หลายสโมสรยังคงมองนักเตะชาวเอเชียเป็นเพียง “เครื่องมือทางธุรกิจ” มากกว่าจะมองพวกเขาในฐานะนักเตะที่มีประสิทธิภาพและต้องการพึ่งพาความสามารถของพวกเขาในสนามจริงๆ
ประเด็นเรื่องที่ ซน ฮึง มิน เป็นเครื่องมือทางธุรกิจในการดึงดูดฐานแฟนบอลชาวเกาหลีใต้หรือชาวเอเชียชาติอื่นเข้ามาสู่ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ ไม่ใช่ความลับ เพราะเราเห็นชาวเกาหลีใต้สวมเสื้อสีขาวเบอร์ 7 เป็นจำนวนมากในสนาม ท็อตแน่ม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม
ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้เป็นเหมือนกับแฟนบอลทั่วไป แต่มีลักษณะคล้ายแฟนคลับของซนโดยเฉพาะ เห็นได้ชัดจากการที่พวกเขายังคงไม่ลุกไปจากที่นั่งหลังเกมจบ โบกธงเกาหลีใต้หรือเพนต์มันบนใบหน้าและร้องเรียกหา ซน ฮึง มิน
นี่คือภาพที่ฉายชัดตั้งแต่เขายังค้าแข้งอยู่ที่เยอรมัน เมื่อ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น จ่ายเงิน 10 ล้านยูโร เพื่อคว้านักเตะรายนี้มาจาก ฮัมบูร์ก ในตอนนั้นทัพห้างขายยาไม่ได้แค่กองหน้าชาวเกาหลีใต้ แต่ยังได้สปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อรายใหม่อย่าง LG ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเกาหลีใต้ที่เซ็นสัญญา 3 ปีกับสโมสร พร้อมกับคว้าตัวซนมาเป็นพรีเซนเตอร์ของบริษัท
นี่เป็นเพียงตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า ซน ฮึง มิน เปลี่ยนสภาพจากนักเตะเป็นเครื่องมือทางธุรกิจได้อย่างไร ซึ่งความจริงแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นในยุคของนักเตะรายนี้ เพราะก่อนหน้านั้น พัค จี ซอง ยอดกองกลางแห่งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ก็ถือเป็นเครื่องมือดึงดูดแฟนเกาหลีใต้เข้าหาฟุตบอลอังกฤษ ขณะที่ตัวตนของเขาต่อแฟนบอลท้องถิ่นคือแทบจะเป็นสูญญากาศ
ความจริงที่แข้งชาวเอเชียตกเป็นเครื่องมือทางธุรกิจของสโมสรในยุโรปกลายเป็นดาบสองคม เพราะไม่ว่าพวกเขาจะเก่งแค่ไหน แฟนบอลในพื้นที่จะมองแค่ว่าเราเซ็นพวกเขามาเพื่อขายตั๋ว, ขายเสื้อ, ดึงดูดสปอนเซอร์ โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับผลงานในสนามเลย
อิม ฮยอน จู อาจารย์สาขาสังคมวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยบอร์นมัธ เปิดเผยอย่างเต็มปากว่า ชาวยุโรปมองผู้เล่นชาวเอเชียเป็นพลเมืองชั้นสองไม่ต่างจากที่ชาวอเมริกันมองชาวเอเชียอพยพที่ไปตั้งรกรากบนแผ่นดินของพวกเขา โดยมุมมองทั่วไปที่ชาวอังกฤษมีต่อซนคือ ทำงานหนัก, มีระเบียบวินัย และกตัญญูรู้คุณ
ดังนั้นแล้ว จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ภาพจำของแฟนบอลในยุโรปเรื่องการซื้อนักเตะชาวเอเชียเพื่อเป็นเครื่องมือทางธุรกิจจะหายไป แม้หลายสโมสรในเยอรมันจะคิดไกลกว่านั้น โดยเริ่มมองนักเตะจากเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น เป็นแข้งฝีเท้าดีราคาถูกที่เหมาะสมกับการใช้งาน
แต่สำหรับสโมสรระดับโลกอย่าง เรอัล มาดริด, บาร์เซโลน่า หรือ ปารีส แซงต์ แชร์กแม็ง นักเตะชาวเอเชียไม่เคยเป็นมากไปกว่าเครื่องมือในการเปิดตลาดสำหรับพวกเขา ซึ่งเมื่อมองในแง่นั้น ไลฟ์สไตล์ของชาวเอเชียก็ปราศจากความเป็นซูเปอร์สตาร์ เห็นได้จากความเรียบง่ายในวิถีชีวิตของ ซน ฮึง มิน ที่ตื่นเช้าขึ้นมาล้างหน้าแปรงฟันซักผ้าและใช้ชีวิตช่วงเช้าอย่างเรียบง่ายด้วยเสื้อยืดกางเกงขาสั้น
เพราะฉะนั้นแล้ว สโมสรฟุตบอลที่สามารถเปิดตลาดเอเชียด้วยนักเตะอย่าง ลิโอเนล เมสซี่, คีลิยัน เอ็มบัปเป้ หรือซูเปอร์สตาร์รายอื่นที่ไม่ใช่ชาวเอเชียจึงไม่มีเหตุผลสักข้อที่ต้องซื้อ ซน ฮึง มิน เข้ามาร่วมทีม เพราะสำหรับทีมแถวหน้าเหล่านี้ พวกเขาไม่ต้องการนักเตะเอเชีย ทั้งในแง่ของเครื่องมือการค้าหรือนักเตะทรงประสิทธิภาพของทีม
ความจริงที่ ซน ฮึง มิน ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลนักเตะยอดเยี่ยมของสมาคมนักฟุตบอลอาชีพของอังกฤษ หรือ พีเอฟเอ ทั้งที่คว้ารางวัลดาวซัลโวของพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2021-22 คือเครื่องยืนยันชัดเจนถึงความพยายามที่ต้องทุ่มเทมากกว่าคนอื่นของชาวเอเชียในวงการฟุตบอล เพื่อให้ได้การยอมรับอย่างที่พวกเขาคู่ควร และจนถึงตอนนี้ ดูเหมือนว่า ซน ฮึง มิน ยังไม่ใช่คนแรกที่จะได้รับข้อยกเว้นนั้น
นี่คือความจริงที่แฟนบอลชาวเอเชียต้องยอมรับว่า ซน ฮึง มิน ไม่ได้ถูกตีคุณค่ามากเท่าความเป็นจริง แม้สโมสรและวงการฟุตบอลยุโรปจะเชิดชูเขาเป็นซูเปอร์สตาร์ แต่ก็เป็นซูเปอร์สตาร์ที่ไม่มีทีมไหนอยากคว้าตัว นั่นเพราะข้อจำกัดหลายอย่างซึ่งสรุปได้ว่าเกิดจากการที่ ซน ฮึง มิน เกิดเป็นชาวเกาหลีใต้และชาวเอเชียเท่านั้น